คำอธิบายรายวิชา

คำอธิบายรายวิชา

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

รายวิชา ภาษาไทย        รหัสวิชา ท๓๑๑๐๑

ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ จำนวน ๒ ชั่วโมง / สัปดาห์ จำนวน ๑.๐ หน่วยกิต ภาคเรียนที่ ๑

 

คำอธิบายรายวิชา

การใช้สื่อสังคมออนไลน์เว็บบล็อก (Weblog) เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21  ได้เรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้นำหลักการ ความรู้เรื่องการอ่านจับใจความสำคัญเพราะการอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความรู้แล้วยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้แนวคิดในการดำเนินชีวิต การอ่านจึงเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เรื่องต่างๆ

การอ่านที่ดีมีประสิทธิภาพ จะต้องอ่านแล้วจับใจความได้ สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านได้แต่การสำรวจการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนพบว่า ปัญหาที่สำคัญในการอ่านของผู้เรียนคือ อ่านแล้วจับใจความสำคัญไม่ได้ ไม่สามารถสรุปประเด็นได้ ไม่สามารถแยกความรู้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ไม่สามารถแยกใจความสำคัญกับใจความรองได้ ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านเท่าที่ควร ทั้งยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการศึกษาวิชาต่างๆด้วย

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดคุณภาพของผู้เรียนด้านความเข้าใจในการอ่านไว้ในช่วงชั้นเช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กำหนดให้อ่านแล้ว ..เข้าใจข้อความที่อ่าน..ช่วงชั้น 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ..อ่านแล้วจับประเด็นสำคัญแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น วิเคราะห์ความตีความ สรุปความได้.. ช่วงชั้นที่ 3 คือมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นเชิง วิเคราะห์ประเมินค่าเรื่องที่อ่านอย่างมีเหตุผลและในช่วงชั้นปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อ่านแล้วสามารถตีความ แปลความ และขยายความเรื่องที่อย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่าเรื่องที่อ่านได้.. ซึ่งผู้เรียนจะมีคุณภาพ ดังกล่าวได้ ต้องมีความสามารถในการอ่านจับใจความและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ จากการอ่านได้เป็นอย่างดี

การอ่านจับใจความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วนใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง  ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุดเพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือสิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเอง ใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ได้ จุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้า โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลัง สำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความสังเกตและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏชัดเจนอาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง

แนวการอ่านจับใจความ    การอ่านจับใจความให้บรรลุจุดประสงค์ มีแนวทางดังนี้   1.ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดพลิน หรือเพื่อบอกเจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  2.สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้หนังสือ ภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้กว้างขวางและรวดเร็ว  3.ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย  4.ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆ อย่างถูกต้องรวดเร็ว

 

รหัสตัวชี้วัด

ท ๑.๑ ม.๔-๖/๑, ม.๔-๖/๒, ม.๔-๖/๓, ม.๔-๖/๔, ม.๔-๖/๕, ม.๔-๖/๖, ม.๔-๖/๗, ม.๔-๖/๘,ม.๔-๖/๙

ท ๒.๑ ม.๔-๖/๑, ม.๔-๖/๒, ม.๔-๖/๓, ม.๔-๖/๔, ม.๔-๖/๕, ม.๔-๖/๖, ม.๔-๖/๗, ม.๔-๖/๘

ท ๓.๑ ม.๔-๖/๑, ม.๔-๖/๒, ม.๔-๖/๓, ม.๔-๖/๔, ม.๔-๖/๕

ท ๔.๑ ม.๔-๖/๑, ม.๔-๖/๒, ม.๔-๖/๔

ท ๕.๑ ม.๔-๖/๑, ม.๔-๖/๒, ม.๔-๖/๓, ม.๔-๖/๔, ม.๔-๖/๕, ม.๔-๖/๖  รวม ๓๐ ตัวชี้วัด